ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ....
พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปทางการศึกษา ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และมอบหมายให้หน่วยงานและกองทุนอื่น ๆ ตามกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องตามนัยมาตรา 6 ของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ดำเนินการตามข้อสังเกตของสำนักงบประมาณต่อไป โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว ประกอบด้วย
1. สถานะและวัตถุประสงค์ของกองทุน
(1) ให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคล
(2) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิที่จะรับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
2. เงินและทรัพย์สินของกองทุน
(1) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาจากเงินงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเฉพาะในส่วนสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน
(2) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท
(3) เงินรายปีที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่ ครม. กำหนด
(4) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(5) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี ตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้รัฐบาลจัดสรรให้เพียงพอตามแผนการใช้เงิน
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเช่นเดียวกับการบริจาคเพื่อการศึกษาตามประมวลรัษฎากร
4. ขอบเขตการใช้จ่ายของกองทุน ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส โดยอาจดำเนินการโดยวิธีการให้เปล่า ให้ยืม หรือให้กู้ยืมก็ได้
5. คณะกรรมการบริหารกองทุน และสำนักงานกองทุน ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานของกองทุน โดยมีสำนักงานกองทุนทำหน้าที่ในการดำเนินงานของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
6. การกำกับและดูแล นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับและดูแลการดำเนินกิจการของกองทุน ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ นโยบายรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำหลักเกณฑ์และระเบียบการกู้ยืมเงินของกองทุนไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : อรจินดา บุรสมบูรณ์ผู้เรียบเรียง : อรจินดา บุรสมบูรณ์แหล่งที่มา : สำนักข่าวชมรมคนรักประเทศไทย หัวใจเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น